Notice: Trying to access array offset on value of type bool in /var/www/vhosts/allied.tu.ac.th/httpdocs/wp-content/themes/Divi/includes/builder/functions.php on line 2200
ประวัติภาควิชา - ภาควิชารังสีเทคนิค

ประวัติภาควิชา

 

ประวัติภาควิชา

ปัจจุบันงานบริการทางการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์
ตลอดจนเทคโนโลยีระบบสารสนเทศได้ก้าวหน้าไปไกล ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาชีพรังสีเทคนิคยังขาดแคลนเป็นจำนวนมาก
การพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพให้มีคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้สังคมโดยรวม
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คณะสหเวชศาสตร์จึงเล็งเห็นความสำคัญในการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค
เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศที่เป็นสาขาขาดแคลน โดยดำเนินการจัดทำหลักสูตรฯ
ให้เป็นไปตามมาตรฐานคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค (กช.) และมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.)
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค พ.ศ. 2560 ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2560 เป็นปีแรก หลังผ่านการพิจารณากลั่นกรองและผ่านอนุมัติจาก

o คณะอนุกรรมการสภามหาวิทยาลัย ด้านหลักสูตรและจัดการศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 4/2559
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559
o สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559
o คณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค (กช.) ในการประชุมครั้งที่ 23-1/2560 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560

วิสัยทัศน์

มุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ มีทักษะในการปฏิบัติงานรังสีเทคนิค
ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
สามารถทำงานร่วมกับสหวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะทันโลกทันสังคม
มีความสามารถในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่นอย่างยั่งยืน

ปรัชญา

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขารังสีเทคนิคมุ่งเน้นการใช้และพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและทักษะวิชาชีพรังสีเทคนิค
ก้าวทันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประยุกต์ในการปฏิบัติงานและงานวิจัยทางรังสีเทคนิค ทำงานเป็นทีม
มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มีจิตใจที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณตามมาตรฐานวิชาชีพ

พันธกิจ

เพื่อผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคที่มีคุณลักษณะ ดังนี้

1. มีความรู้ ความสามารถ และทักษะทางรังสีเทคนิค เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ
2. มีคุณธรรม จริยธรรม และการทำงานเป็นทีมร่วมกับสหวิชาชีพในการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค
3. มีทักษะในการสื่อสารกับผู้รับบริการ และมีจิตสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่สังคม
4. มีความก้าวทันเทคโนโลยี เรียนรู้ด้วยตนเอง
มีทักษะพื้นฐานในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางรังสีเทคนิค

แผนปฏิบัติราชการ

ปัจจุบันงานบริการทางการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์และวิวัฒนาการของระบบสารสนเทศได้ก้าวหน้าไปไกล ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาชีพรังสีเทคนิค/รังสีการแพทย์ยังขาดแคลนเป็นจำนวนอย่างมาก และในขณะนี้มหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตทางรังสีเทคนิคโดยตรงมีเพียง 6 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย 2 สถาบันหลังนี้เพิ่งเปิดสอนในปีการศึกษา 2558 ซึ่งการผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคของทุกสถาบันที่กล่าวมาข้างต้นในภาพรวมของประเทศขณะนี้ผลิตได้ประมาณปีละ 200 คน และในปี 2561 เป็นต้นไป จึงจะผลิตได้ประมาณ 260 คน ในอดีตเคยมีมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งที่เปิดสอนเพื่อผลิตบัณฑิตในลักษณะการต่อยอดจากผู้จบระดับประกาศนียบัตรมาเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และขณะนี้ได้ปิดการเรียนการสอนไปแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการสำรวจของคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ในระหว่างปี พ.ศ. 2553 พบว่าประเทศไทยมีความต้องการนักรังสีเทคนิคหรือนักรังสีการแพทย์ เข้าสู่ระบบงานด้านสาธารณสุขในระดับที่สูงมาก คิดเป็นจำนวน 5,160 คน ในขณะที่กำลังคนที่มีอยู่ในปัจจุบันมีเพียง 4,133 คน (จากการสอบใบประกอบโรคศิลปะ วันที่ 30 กันยายน2558) และเป็นที่คาดการณ์ว่ามีความต้องการนักรังสีเทคนิคเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้มีการเคลื่อนไหวของตลาดแรงงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และการสื่อสาร ทำให้ประชาชนรับรู้ข่าวสาร และวัฒนธรรมจากต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความเป็นอยู่ของประชาชน ประกอบกับการที่ในสังคมมีผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นครอบครัวเดี่ยว และได้ส่งผลกระทบให้ประชาชนเกิดความอ่อนแอทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีอิทธิพลต่อรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท การพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพให้มีคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้สังคมโดยรวมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การพัฒนาหลักสูตร

ผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการพัฒนาหลักสูตรเชิงรุกเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดวิชาชีพ สาขารังสีเทคนิค และสอดคล้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยผลิตนักรังสีเทคนิค เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานทั้งด้านรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ตลอดจนพัฒนาให้บัณฑิตมีศักยภาพสูง และที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทั้งด้าน ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม ความชำนาญตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ

แผนพัฒนาปรับปรุง

การพัฒนา/เปลี่ยนแปลง กลยุทธ์ หลักฐาน/ตัวบ่งชี้
1.พัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม/เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 1.ติดตามความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆในด้านกำลังคน การพัฒนา การวิจัย การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ และการสร้างนวัตกรรมต่างๆ 1.รายงานความต้องการจากภาคส่วนต่างๆ
2.พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพ 1.สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการพัฒนาหลักสูตร
2.วิเคราะห์และประเมินหลักสูตร
1.รายงานผลการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา
2.ระดับความพึงพอใจของบัณฑิต นายจ้าง ผู้ประกอบการและผู้ใช้บัณฑิตในการใช้ความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพหรือปฏิบัติงาน
3.ประเมินคุณภาพทุกปีการศึกษาโดยพิจารณาจากดัชนีบ่งชี้ผลการดำเนินงาน (KPI) 1.ทบทวนผลการประเมินและวางแผนการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ 1.รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษา