Notice: Trying to access array offset on value of type bool in /var/www/vhosts/allied.tu.ac.th/httpdocs/wp-content/themes/Divi/includes/builder/functions.php on line 2200
ประวัติบัณฑิตศึกษา - บัณฑิตศึกษา

ประวัติบัณฑิตศึกษา

    คณะสหเวชศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 5 หลักสูตร ประกอบด้วย 

ระดับปริญญาเอก จำนวน 1 หลักสูตร

   1. หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

ระดับปริญญาโท จำนวน 5 หลักสูตร

   1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชีวเวชศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) 

   2. หลักสูตรเทคนิคการแพทยมหาบัณฑิต 

   3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด

   4. หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์

   5. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการสมัยใหม่ทางการกีฬา

1. หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต และ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ก่อตั้งศูนย์สุขศาสตร์ขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของคณะต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งด้านการเรียนการสอน และการวิจัยและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดโดยเฉพาะขณะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่ขณะนี้ โดยมหาวิทยาลัยตั้งความหวังว่า โดยอาศัยความร่วมมือดังนี้ จะทำให้คณะต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาไปได้ตามเป้าหมายและมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะสหเวชศาสตร์ได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปิดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาตามแผนพัฒนาการศึกษาแผนที่ 8 (พ.ศ. 2540-2545) คณะสหเวชศาสตร์ได้ริเริ่มโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาชีวเวชศาสตร์ขึ้นเนื่องจากตระหนักดีว่าประเทศชาติขาดแคลนบุคลากรสาขานี้อยู่มาก ทั้งอาจารย์ที่จะสอนในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ อีกทั้งยังขาดแคลนนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่จะเป็นหลักสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2547 จึงแบ่งส่วนราชการเป็นการภายในเพิ่มอีก 1 หน่วยงานคือ โครงการบัณฑิตศึกษา สาขาชีวเวชศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 คณะสหเวชศาสตร์ได้รวมบัณฑิตศึกษาของหลายสาขาวิชาและอยู่ภายใต้การบริหารของหน่วยงานที่มีชื่อว่า บัณฑิตศึกษา

2. หลักสูตรเทคนิคการแพทยมหาบัณฑิต

     หลักสูตรเทคนิคการแพทยมหาบัณฑิตเริ่มเปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 จนถึงปัจจุบันปีการศึกษา 2565  มีเป้าหมายผลิตในการมหาบัณฑิตที่มีความรู้และมีศักยภาพในการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านเทคนิคการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและรักษาสุขภาพของประชาชน ดังนั้น การที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ให้มีความรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และเกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นตลอดเวลา จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาวิจัยขั้นสูง ที่จะทำให้เกิดคำตอบของประเด็นปัญหาที่สนใจและค้นพบวิธีการใหม่  หรือมีการพัฒนาปรับปรุงวิธีการในการประกอบอาชีพเทคนิคการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ความสามารถในการทำวิจัยจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของมหาบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ที่พึงประสงค์ และการเพิ่มพูนความรู้และความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการวิจัยจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานทางการแพทย์ โรงพยาบาล และสถาบันที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ  

3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด

     หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด เริ่มเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2558 จนถึงปัจจุบันปีการศึกษา 2565 มีเป้าหมายในการผลิตมหาบัณฑิตให้มีความรู้ขั้นสูงด้านกายภาพบําบัดและวิทยาศาสตร์สุขภาพ สามารถค้นหาและแก้ไขปัญหาทางสุขภาพโดยใช้ความรู้และวิธีการทางกายภาพบําบัดใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการสืบค้นข้อมูลและการเรียนรู้ด้วยตนเอง และนําความรู้ขั้นสูงไปใช้ในการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองรวมทั้งส่งเสริมและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพโดยมีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ ร่วมกับมีจิตสํานึกต่อสังคม 

4. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์

     ในปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคมให้ได้รับความสะดวกสบาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอาชญากร กลับมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการกระทำผิด ทำให้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงทั้งรูปแบบและวิธีการ ตลอดจนมีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคดีเหล่านี้ต้องได้รับการคลี่คลายปมปัญหา เงื่อนงำ ข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความกระจ่างเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หลักฐานที่จะนำมาใช้เพื่อการพิสูจน์ยืนยันประกอบกับประจักษ์พยานอื่นๆ จะต้องมีความถูกต้อง เที่ยงตรงแม่นยำ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในหลายสาขาที่มีการนำเครื่องมืออุปกรณ์และวิธีวิเคราะห์ใหม่ๆรวมทั้งระบบสารสนเทศที่ทันสมัยทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน ในปัจจุบัน มีหน่วยงานต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานนิติวิทยาศาสตร์ที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ และทักษะในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์หลักฐานต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามอัตรากำลังทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ        คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ได้จัดตั้งสาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (นิติวิทยาศาสตร์) รับนักศึกษารุ่นที่ 1 ในปีการศึกษา 2558 ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อมีส่วนร่วมช่วยเหลือในกระบวนการสืบสวน สอบสวนบนพื้นฐานของพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการคลี่คลายคดีอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

5. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการสมัยใหม่ทางการกีฬา

     หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการสมัยใหม่ทางการกีฬา (Modern Development in Sport) เกิดขึ้นมาจากความมุ่งมั่นของ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการพัฒนาและยกระดับการกีฬาของประเทศ สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พ.ร.บ. นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ที่เป็นกฎหมายแม่บทของการพัฒนาการกีฬาของประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ด้วยการต่อยอดทางการศึกษาให้กับบุคลากรกีฬาของประเทศ  นอกจากนโยบายการพัฒนากีฬาข้างต้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ทำให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยขึ้นมามากมาย ผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาองค์กร และ การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ทำให้เกิดการชะงักงันทั้งทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางสังคม รวมถึงกิจกรรมและการแข่งขันกีฬาในทุกระดับ ถือเป็นประเด็นที่หลักสูตรได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของภาวะผู้นำที่ต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างรอบคอบและเป็นระบบ ซึ่งสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทรัพยากรบุคคลของประเทศในแต่ละสาขาอาชีพที่สามารถบูรณาการศาสตร์องค์ความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมนั้น ยังมีอยู่อย่างจำกัด
     จากเหตุผลดังกล่าว คณะสหเวชศาสตร์ จึงได้ออกแบบและจัดทำหลักสูตรเพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความเป็นผู้นำที่มีความรู้ขั้นสูงด้านพัฒนาการสมัยใหม่ทางการกีฬา มีความสามารถในการศึกษาวิจัยและแก้ไขปัญหาด้านการกีฬา สามารถบูรณาการความรู้ด้านการกีฬาและสุขภาพ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ทันสมัย      เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการการกีฬาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง และเป็นทางเลือกหลักในการต่อยอดความรู้ทางการศึกษาให้สูงขึ้นและอย่างต่อเนื่อง         เพื่อเสริมสร้างความเป็นเลิศทางด้านการกีฬาและการออกกำลังกายให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
     หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการสมัยใหม่ทางการกีฬา (Modern Development in Sport) สานต่อความสำเร็จต่อจากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการกีฬา (Sport Management)      ที่เปิดทำการเรียนการสอนรุ่นแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และเป็นเวลามากกว่า 9 ปี ที่ได้ผลิตบัณฑิตในการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬามาแล้วมากกว่า 600 คน หลักสูตร ฯ มีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการจำนวนมากจากหลากหลายองค์กร อาทิ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ฯลฯ เนื้อหาหลักสูตรได้ผ่านการวิพากษ์ พิจารณาให้ข้อคิดเห็นจากองค์กรกีฬาหลักของประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2565 จากสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา และหลักสูตร ฯ ได้พัฒนาปรับปรุงเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในทุกระดับ จนกระทั่งผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565 หลักสูตรฯ จึงได้เริ่มประกาศรับนักศึกษาระดับมหาบัณฑิตรุ่นที่ 1 ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566 เพื่อเริ่มการเรียนการสอนสำหรับภาคการศึกษาที่ 1/2566 เป็นต้นไป