ประวัติคณะสหเวชศาสตร์

คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้วยในปี พ.ศ.2529 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายขยายการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีการจัดตั้งคณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยเริ่มก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ.2533 และต่อมาในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535 – 2539) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งคณะใหม่เพิ่มอีก 3 คณะวิชา ได้แก่ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์

จากนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคำสั่งที่ 30/2537 ลงวันที่ 11 มกราคม 2537 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อจัดทำหลักสูตรตลอดจนวางแผนเรื่องอัตรากำลัง ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฯ ได้ประชุมและมีมติให้เปลี่ยนชื่อคณะจากเดิม “คณะเทคนิคการแพทย์” เป็น “คณะสหเวชศาสตร์” เนื่องจากพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นต้องรองรับการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาต่างๆ ที่จะเปิดการเรียนการสอนต่อไปในอนาคตนอกเหนือจากสาขาเทคนิคการแพทย์ เช่น สาขากายภาพบำบัด และสาขาวิชารังสีเทคนิค เป็นต้น

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 มีพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยแบ่งส่วนราชการเป็น 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ ภาควิชากายภาพบำบัด ภาควิชารังสีเทคนิค ภาควิชาอาชีวบำบัด (ขณะนี้ยังไม่เปิดดำเนินการ) และสำนักงานเลขานุการ
และคณะสหเวชศาสตร์ ได้มีการขยายขอบเขตงานเป็นการภายในเพิ่มอีก 3 หน่วยงาน ดังนี้

  1. ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสหเวชศาสตร์
  2. โครงการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
  3. โครงการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์

คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 17/2556 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 มีมติอนุมัติการแบ่งส่วนงานภายในสำนักงานเลขานุการคณะสหเวชศาสตร์ เป็น 4 งาน คือ งานบริหารและธุรการ งานคลังและพัสดุ งานวิชาการและวิจัย และงานนโยบายและมาตรฐานการศึกษา เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นและเกิดความชัดเจนในการทำงานของหน่วยงาน

ต่อมาคณะสหเวชศาสตร์ ได้มีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกที่เป็นโอกาสและอุปสรรคต่อการบริหารงานของคณะในสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนคณะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนสู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ โดดเด่นในความเป็นธรรมศาสตร์เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย มุ่งสู่ความเป็นนานาชาติ และเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ดังนั้น คณะสหเวชศาสตร์ จึงได้มีจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มเป็นการภายในอีก จำนวน 4 หน่วยงาน โดยมีฐานะเทียบเท่าภาควิชา เพื่อรองรับการดำเนินงานสำคัญๆ ของคณะฯ ให้เป็นไปโดยราบรื่น มีความคล่องตัว และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้

  1. จัดตั้งสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการพัฒนากีฬา โดยแยกหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาและการจัดการการกีฬาออกจากภาควิชากายภาพบำบัด โดยปัจจุบันได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี 3 หลักสูตร ได้แก่ วท.บ.วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย ศศ.บ.การจัดการกีฬา (โครงการพิเศษ) และ ศศ.บ.การฝึกสอนกีฬา (โครงการพิเศษ)
  2. จัดตั้งสาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ในระดับปริญญาโท สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่มีความขาดแคลน ซึ่งคณะสหเวชศาสตร์ มีความพร้อมด้านทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอนทางด้านนิติวิทยาศาสตร์อยู่แล้วในระดับหนึ่ง ประกอบกับคณะฯ ได้มีการลงนามทำความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในวันที่ 22 มกราคม 2557 ทั้งในด้านการจัดการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนความรู้ร่วมกันให้แก่นักศึกษาและบุคลากร รวมถึงการที่มหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนการพัฒนาศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และร่วมกันพัฒนาห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน ในด้านความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอนในสาขานิติวิทยาศาสตร์ และเปิดสอนในปีการศึกษา 2558 เป็นต้นมา
  3. จัดตั้งหน่วยงานบัณฑิตศึกษา โดยยุบรวม “โครงการบัณฑิตศึกษา สาขาชีวเวชศาสตร์” และ “โครงการบัณฑิตศึกษา สาขาเทคนิคการแพทย์” ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในที่คณะสหเวชศาสตร์ จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2550 และปี พ.ศ.2551 เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาทุกหลักสูตรเป็นไปตามนโยบาย และมีเอกภาพ ปัจจุบัน คณะสหเวชศาสตร์ ขยายการเรียนการสอนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและเอก รวม 6 หลักสูตร ได้แก่ M.Sc. (Biomedical Sciences) Ph.D. (Biomedical Sciences) ทพ.ม.เทคนิคการแพทย์ วท.ม.กายภาพบำบัด วท.ม.นิติวิทยาศาสตร์ และ ศศ.ม.พัฒนาการสมัยใหม่ทางการกีฬา
  4. จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ โดยขยายขอบเขตงานของศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสหเวชศาสตร์ และย้ายหมวดบริการวิชาการแก่สังคม สังกัดงานวิชาการและวิจัย เพื่อเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการให้บริการที่ไม่มุ่งผลกำไรที่ผู้รับบริการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายร่วมกับคณะฯ และในอนาคตคณะฯ มีโครงการให้บริการวิชาการเชิงธุรกิจที่ผู้รับบริการต้องเสียค่าใช้จ่ายเองอีกหลายโครงการ คณะฯ จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อให้ตรงกับภาระงาน โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์” เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดระบบบริหารจัดการและดำเนินงานโดยตรงสามารถตอบสนองตรงตามความต้องการของสังคม และเป็นหน่วยงานที่จัดหารายได้ในการพัฒนาคณะและการดำเนินงานตามพันธกิจได้อย่างคล่องตัวขึ้น วัตถุประสงค์ของศูนย์เพื่อเป็นหน่วยงานให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพแบบครบวงจร บริการด้านกายภาพบำบัด และวิทยาศาสตร์การกีฬา ให้แก่บุคลากร ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง มีรูปแบบการให้บริการที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สะดวก รวดเร็ว ราคาประหยัด รวมทั้งมีบริการตรวจนอกสถานที่ให้แก่สถานประกอบการต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่บุคลากร จึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น โดยศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ แบ่งส่วนงานภายในเป็น 3 ศูนย์ย่อย ดังนี้
    1. หน่วยวิจัยและบริการทางเทคนิคการแพทย์
    2. หน่วยกายภาพบำบัดและธาราบำบัด
    3. หน่วยวิทยาศาสตร์การกีฬาและการพื้นฟูทางการกีฬา

ทั้งนี้ ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ ทางกรมบัญชีกลางได้รับทราบเป็นสถานพยาบาลของทางราชการเรียบร้อยแล้ว และค่ารักษาพยาบาลที่ศูนย์เรียกเก็บ ผู้มีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลสามารถนำไปเบิกจากทางราชการได้ โดยศูนย์ได้เปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ปัจจุบันห้องปฏิบัติการ ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ตาม มาตรฐานสากล ISO 15189 และมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ISO 15190 นอกจากนี้ ยังจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวินิจฉัยระดับโมเลกุล (Molecular Diagnostic Laboratory Center) เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์สารทางพันธุกรรม การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุหรือโอกาสในการเกิดโรค รวมถึงการตรวจเพื่อติดตามการรักษาซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์โรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2563 ได้เปิดให้บริการตรวจหาเชื้อ Covid-19 ตั้งแต่ในระยะแรกของการระบาดเชื้อ Covid-19 19 (ได้รับการรับรองเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ เครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2) ในปี 2564 ได้เปิดให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Covid-19

Scroll to Top